Welcome to Information Technology and Community

วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซอฟต์แวร์ประยุกต์

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้น เพื่อประยุกต์กับงานที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์จัดเก็บภาษี ซอฟต์แวร์สินค้าคงคลัง ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ซอฟต์แวร์กราฟิก ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นต้นการทำงานใดๆ โดยใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ จำเป็นต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมของซอฟต์แวร์ระบบด้วย ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ประมวลคำต้องทำงานภายใต้ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเอ็มเอสดอสหรือวินโดวส์ เป็นต้น


ซอฟต์แวร์ประยุกต์
นอกจากที่จะมีซอฟต์แวร์ระบบที่ทำหน้าที่หลักในการจัดการฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์แล้ว  ในความเป็นจริงการทำงานของผู้ใช้งานจะสัมพันธ์กับซอฟต์แวร์ประยุกต์มากกว่า  เช่นการพิมพ์เอกสาร  การตัดแต่งภาพ  การดูหนังฟังเพลง  เป็นต้น    สำหรับซอฟต์แวร์ประยุกต์นั้นสามารถจำแนกออกตามวัตถุประสงค์การใช้งานได้ดังต่อไปนี้
ประเภทของซอฟต์แวร์ประยุกต์
1. ซอฟแวร์ที่มีวัตถุประสงค์ทั่วไป หรือซอฟต์แวร์สำเร็จรูป  ซอฟต์แวร์ประเภทนี้เป็นซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานที่ไม่เจาะจงเป้าหมายการทำงานแต่ก็จะสามารถทำงานได้ตามขอบเขตที่ผู้ผลิตกำหนด   และก่อนที่ซอฟต์แวร์ประเภทนี้จะออกมาสู่ผู้ใช้งานจะได้รับการทดสอบการทำงานมาเป็นอย่างดี  ถ้าหากพิจารณาซอฟต์แวร์ประเภทนี้ออกเป็นกลุ่มต่างๆ ตามลักษณะการใช้งานแล้ว  จะสามารถพิจารณาออกเป็นหลายกลุ่มอาทิเช่น
- ซอฟต์แวร์ประมวลผลคำ  เป็นซอฟต์แวร์ที่ช่วยในการพิมพ์งานเอกสารต่างๆ  การจัดรูปแบบเอกสาร  การจัดเก็บข้อมูลตามที่ผู้ใช้งานต้องการ ตัวอย่างซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้เช่น ไมโครซอฟต์เวิร์ด  ปลาดาวไลท์เตอร์ เป็นต้น
- ซอฟต์แวร์ตารางการทำงาน เป็นซอฟต์แวร์ที่มีลักษณะเป็นตารางสองมิติ  เหมาะสำหรับงานคำนวณโดยจะมีการจัดเตรียมสูตรทางคณิตศาสตร์เพื่อทำให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น   ตัวอย่างซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้เช่น ไมโครซอฟต์เอกเซล  โปรแกรมแคลซี(calc) เป็นต้น
- ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูล เป็นซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลและช่วยในการสืบค้นข้อมูลให้แก่ผู้ใช้งาน  แต่ทั้งนี้ผู้ใช้งานอาจจะต้องมีความรู้ในการออกแบบฐานข้อมูลและวิธีในการเรียกดูข้อมูลจากซอฟต์แวร์ประเภทนี้อยู่บ้าง ตัวอย่างซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้เช่น ไมโครซอฟแอสเซส ไมโครซอฟเอสคิวแอล เซิร์ฟเวอร์  ออราเคิล เป็นต้น
- ซอฟต์แวร์สร้างการนำเสนองาน  เป็นซอฟต์แวร์ที่ผู้ใช้สามารถนำข้อมูลทั้งตัวอักษร ภาพนิ่ง  ภาพเคลื่อนไหว แผนภูมิ และเสียง มาจัดเรียงและตกแต่งเพื่อใช้ในการแสดงนำเสนอผลงาน ตัวอย่างซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้เช่น ไมโครซอฟต์พาวเวอร์ พอยท์  ปลาดาวอิมเพลส  เป็นต้น
- ซอฟต์แวร์งานออกแบบ เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในงานทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมในการออกแบบอาคาร สิ่งก่อสร้าง หรือ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ  ตัวอย่างซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้เช่น โปรแกรม CAD เป็นต้น
- ซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพกราฟิก เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการสร้างและดัดแปลงตกแต่งภาพ ตัวอย่างซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้เช่น โฟโต้ชอร์ป  อิรัสเตเตอร์  เป็นต้น
- ซอฟต์แวร์สื่อสารข้อมูล เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไป   สำหรับข้อมูลในที่นี้หมายความรวมถึงภาพ ตัวอักษร เสียง เป็นต้น   ตัวอย่างซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้เช่น อินเทอร์เน็ต เอ็กพลอเลอร์ (Internet Explorer) เป็นโปรแกรมเว็บบราวเซอร์ใช้แสดงข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต MSN เป็นโปรแกรมที่ใช้ส่งข้อมูลที่แสดงผลในรูปของตัวอักขระ หรือแม้แต่ภาพและเสียงก็ได้ SSH Secure Shell เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างเครื่องแม่ข่ายกับลูกข่าย เป็นต้น
นอกจากกลุ่มต่างๆที่ยกมาในขั้นต้นแล้วก็ยังมีกลุ่มอื่นๆอีก ทั้ง ซอฟต์แวร์ด้านการศึกษา ซอฟต์แวร์เพื่อความบันเทิง  เป็นต้น
2. ซอฟต์แวร์ที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ  ซอฟต์แวร์ประเภทนี้เป็นซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรหนึ่งองค์กรใด  หรืองานหนึ่งงานใด  ไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยทั่วไป  ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ระบบงานทะเบียนมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งจะมีความเฉพาะเจาะจงไม่สามารถนำไปใช้ร่วมกับงานอื่นได้  หรือ  ซอฟต์แวร์สนับสนุนการตัดสินใจของภาคธุรกิจ  เนื่องมาจากแต่ละธุรกิจมีเป้าหมายหรือกิจกรรมที่แตกต่างกันจึงไม่สามารถใช้ร่วมกันได้
การพิจารณาซอฟต์แวร์ตามหลักการของลิขสิทธิ์
ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายผลิตภัณฑ์  หลากหลายผู้ผลิต  บางผลิตภัณฑ์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายจึงจะสามารถใช้งานได้  บางผลิตภัณฑ์ก็สามารถให้ใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ฉะนั้นถ้าหากพิจารณาซอฟต์แวร์ในด้านของลิขสิทธิ์ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเสียค่าใช้จ่ายก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้นั้น  จะสามารถมองได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์  จัดเป็นซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ที่มีในท้องตลาด  ผู้ผลิตจะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่มีสิทธิใช้งานได้  โดยอาจมีการให้ลงทะเบียนผลิตภัณฑ์ หรือการบันทึกหมายเลขสำคัญประจำผลิตภัณฑ์ (CD-Key) ก่อนจึงจะสามารถติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์ได้   นอกจากนั้นยังอาจมีการจำกัดจำนวนผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ได้อีก   ตัวอย่างของซอฟต์แวร์ได้แก่ ซอฟต์แวร์ของบริษัทไมโครซอฟต์ทั้งหมด เป็นต้น และนอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีการเผยแพร่วิธีการหรือหลักการในการสร้างซอฟต์แวร์จึงทำให้ไม่มีผู้ที่จะสามารถนำไปพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อได้
2. ซอฟต์แวร์แชร์แวร์ (Share Ware) หมายถึงซอฟต์แวร์ที่อนุญาตให้บุคคลต่างๆสามารถนำไปใช้งานได้แต่จะมีข้อจำกัดบางประการ เช่น การจำกัดจำนวนผู้ใช้งาน   การจำกัดคุณสมบัติในการใช้งานบางอย่าง   หรือการจำกัดจำนวนครั้งหรือจำนวนวันที่สามารถใช้งานได้ ซึ่งถ้าผู้ใช้ต้องการที่จะใช้งานต่อก็จะต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์นั้นในภายหลัง ซอฟต์แวร์กลุ่มนี้โดยส่วนใหญ่จะไม่เปิดเผยวิธีการหรือหลักการในการผลิตเช่นเดียวกัน
3. ซอฟต์แวร์ฟรีแวร์(Free Ware) เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการเผยแพร่ให้ผู้ใช้ต่างๆสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย สำหรับซอฟต์แวร์ฟรีแวร์นั้นอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆได้อีก คือ
3.1 ซอฟต์แวร์ฟรีแวร์ที่ไม่เปิดเผยวิธีในการผลิต  มุ่งเน้นให้ผู้ใช้สามารถนำไปใช้ได้เพียงอย่างเดียว  ไม่สามารถนำไปพัฒนาต่อได้
3.2 ซอฟต์แวร์ที่เปิดเผยวิธีการผลิต  เรียกอีกชื่อว่า ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ( Open Source Software) หรือ ซอฟต์แวร์รหัสเปิด   ซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้มีแนวคิดว่า ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เป็นสมบัติของทุกคนที่สามารถนำไปใช้งาน  ทำซ้ำ  เรียนรู้  ปรับปรุง  แก้ไขเพิ่มเติม และเผยแพร่ได้ ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส นั้นมีทั้งที่เป็นระบบปฏิบัติการ เช่น  ลีนุกซ์     และซอฟต์แวร์ประยุกต์ เช่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาเวปแอพพริเคชันอย่างเช่น พีเอชพี (PHP)  ซอฟต์แวร์จัดการฐานข้อมูลอย่างเช่น มายเอสคิวแอล(MySQL)  หรือแม้แต่ซอฟต์แวร์สำนักงานได้แก่ ปลาดาวออฟฟิส และออฟฟิสทะเล  เป็นต้น ซึ่งซอฟต์แวร์ทั้งหมดนั้นได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  และสำหรับประเทศไทยนั้นก็มีหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนาและใช้งานซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาโดยคนไทย  อย่างเช่น ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)  และ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) เป็นต้น  เพื่อทำให้คนไทยไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการซื้อซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ  และส่งเสริมวงการการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น